วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 7 : ผูกเชื่อมเพิ่มพูนเกรด

  
               
                หลายๆคน คงจะเป็นเหมือนกันใช่ไหมครับ เมื่อใกล้สอบ อาจารย์จะบอก keyword บางคำมาให้ เพื่อให้เราท่องและใช้ในข้อสอบ (นี้มันบอกข้อสอบกันชัดๆ เลย) ใช่ครับ อาจจะเหมือนกับการบอกข้อสอบ แต่อย่าลืมนะครับ ว่า keyword ของอาจารย์เยอะมากๆ และบางครั้ง เราก็จำไม่ได้ซะด้วยสิครับ
               ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ผมต้องอธิบายก่อนว่า วิธีการฝึกของผมนั้น อยู่บนพื้นฐานของทฤษฏีภาพในใจเกือบทั้งหมด ภาพในใจเหล่านี้จะถูกเรียกออกมาอย่างง่ายดาย ถ้ามันถูกสร้าขึ้นมาในลักษณะของเรื่องที่สนุก เรืองขบขัน เท่าที่ท่านผู้อ่านจะสามารถสร้างได้ ผมมีตัวอย่างเล็กๆ น้อยจะพูดให้ฟังครับ
               สมมุตินะครับสมมุติ คาบนี้เป็นคาบสุดท้าย อาจารย์ก็ปล่อยของดี คือkeyword ออกข้อสอบ นักเรียนจะทำอย่างไร นักเรียนจะทำอย่างไร นักเรียนจะกลับไปห้องแล้วก็ลืมอีกแล้วเหรอครับ(ร้องแบบเพลงน้องพลับ 555)
        
             ปรอท พรม ศูนย์ เต่า เลือดเย็น กระต่าย หมี แข็งแรง รถยนต์ ไดนามิก
        
             เอาแล้วไง keyword ที่จะช่วยชีวิตเราตอนสอบ
             นั่งสูดหายใจลึกๆ ครับ แล้วเรามาแก้ปัญหาไปด้วยกัน ซึ่งวิธีการที่ผมจะสอนต่อไปนี้คือการ ผูกเชื่อมครับ โดยวิธีการฝึกฝนคือจะต้องสร้างภาพในใจในลักษณะเรื่องสนุก ดังนั้นผมขออนุญาตเริ่มเล่าเรื่องเลยนะครับ
            สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ เราต้องมีภาพอย่างแรกในใจของเรา "ปรอท" เราทราบกันดีว่า มันมีลักษณะเป็นของเหลวสีแดง อย่ามองมันในลักษณะของปรอท  ขั้นที่สองให้ นึกถึงสถานที่ที่คุณเคยพบเห็นมัน สิ่งสำคัญสำหรับการผูกประสานคือคุณจะต้องผูกมันกับความจำเดิมที่มีอยู่แล้ว และสิ่งที่เราจำได้แล้วคือคำว่า"ปรอท" ตอนนี้เราต้องการจำคำว่า"พรม"เพิ่ม
            และแล้วก็ถึงก้าวที่สำคัญของการเดินหน้าสู่เด็กเกียรตินิยม เราต้องผูกประสาน ปรอทให้เข้ากันหรือโยงไปสู่ พรม การผูกประสานต้องกระทำให้สนุกมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น เราอาจจะนึกภาพว่าปรอทในห้องวิทยาศาตร์ทำมาจากพรม นึกภาพว่าพรมมีน้ำสีแดงของปรอทไหลออกมาขณะที่เหยียบก็ได้  ไม่ว่าเราจะนึกภาพแบบใดมันต้องเป็นเรื่องที่สนุก หากเรานึกถึงว่าปรอทถูกวางอยู่บนพรมจะเป็นการผูกประสานที่ไม่ดีเพราะมันธรรมดาเกินไป และเราก็จะจำมันไม่ได้
            จงจำไว้ว่าอย่าพยายามที่จะมองคำ แต่ต้องมองให้เห็นภาพ ลองหลับตานึกถึงภาพสิ่งของชิ้นทีสอง ให้นึกถึงภาพแรกที่ท่านผู้อ่านเห็นมัน หลังจากนั้นให้หยุดคิดถึงมันและเริ่มขั้นตอนต่อไป นั่นคือ "ศูนย์" ตอนนี้เราจะไม่สนใจกับปรอทมากนัก ให้สร้างเรื่องราวสนุกระหว่างพรม กับ ศูนย์ เราอาจนึกภาพว่า คุณต้องนึกภาพว่า พรมมีลักษณะเหมือนเลยศูนย์ หรือเลขศูนย์ตัวใหญ่ยักษ์เดินเล่นไปมาบนพรมก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องเห็นมันในใจของคุณได้อย่างรวดเร็ว
            และ คุณก็ค่อยๆ คิด เรื่องราวสนุกเช่นนี้จับคู่ไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ เต่ากับเลือดเย็น เลือดเย็นกับกระต่าย กระต่ายกับหมี หมีกับแข็งแรง แข็งแรงกับรถยนต์ และ รถยนต์กับไดนามิก จนครบ หาคุณทำเช่นนี้ได้ผมรับรองว่าคุณจะไม่มีวันลืมอะไรเลย บทต่อไป เราจะมาดูว่าหลักง่ายๆ 4 ประการ ที่ช่วยให้การผูกความจำง่ายขึ้นมีอะไรบ้างครับ
             
       

วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 6 : จงสนใจที่จะรู้

                    เคล็ดลับที่ 5 เราได้พูดถึงเรื่องสมาธิกันไปแล้ว มา ตอนที่ 6 นี้เราจะมาเจาะลึกในปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นสมาธิของเราเพื่อให้เราเป็นเลิศในการศึกษา สิ่งนั้นคือความสนใจ หากใครมีญาติพี่น้องที่มีบุตรเล็กๆ เราอาจจะได้เคยได้ยินคำบ่นอยู่บ่อยครั้งที่ว่า ลูกของพวกเขาความจำแย่ เพราะไม่สามารถจำสิ่งที่เรียนไปได้ และมีผลการเรียนในระดับต่ำ แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับว่า หากเราไปถามเรื่องอื่นในเรื่องที่เขาสนใจ เช่น ให้เขาเล่าเรื่องราวการ์ตูนที่เขาชอบดูเป็นประจำ ให้เล่าประสบการณ์การไปวิ่งเล่นกับเพื่อน เราจะประหลาดใจมาก เพราะพวกเขาจะจำได้อย่างง่ายดายและดีมาก ทำไมเด็กบางคนจึงไม่สามารถจำสิ่งที่เรียนไปได้ เป็นเพียงเพราะพวกเขามีความสนใจในเรื่องการ์ตูนมากกว่าวิชาที่เรียนในชั้นเรียน
                   ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความจำของพวกเด็กๆ แต่มันอยู่ที่การขาดความสนใจ ข้อพิสูจน์ก็คือเป็นความจริงว่าจะมีอย่างน้อยหนึ่งวิชาที่เด็กเก่งเป็นพิเศษแม้ว่าวิชาอื่นๆ จะได้คะแนนต่ำ ถ้านักเรียนคนหนึ่งมีความจำดีสำหรับวิชาหนึ่ง เขาก็จะเป็นนักเรียนที่ดีในวิชานั้น ถ้าเขาจำไม่ได้ หรือมีความจำไม่ดีในวิชานั้น เขาก็จะเป็นนักเรียนที่แย่สำหรับวิชานั้น อย่างไรก็ตามข้อพิสูจน์นี้ก็แสดงว่านักเรียนมีความจำที่ดีสำหรับสิ่งที่เขาชอบ หรือสิ่งที่เขาสนใจ
                   เช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ หากเรามีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเรามักจะจำรายละเอียดสิ่งนั้นได้ดี เช่น ผู้ชายมักจะจำรายละเอียดของทีมฟุตบอลที่ตนชอบ ชื่อนักเตะ แม้ปกติจะเป็นคนขี้ลืมก็ตาม แม่บ้านที่ต้องจดโน๊ตทุกครั้งก่อนจ่ายตลาด สามารถจำรายละเอียดทรงผมที่ตนชอบ ชุดที่ตนจะซื้อ แม้จะเคยพบเพียงครั้งแรกก็ตาม
                   สิ่งที่จะทำให้เราเกิดสมาธิ และส่งผลต่อการเรียนนั้น ท่านผู้อ่านจะต้องมั่นใจและสนใจที่จะจำมัน แต่ท่านผู้อ่านไม่ต้องกังวล เพราะระบบ และวิธีการของสิ่งที่กำลังจะค่อยๆ บอกท่านผู้อ่านนั้น จะทำให้ท่านผู้อ่านต้องประหลาดใจในความช่างสังเกต และความแม่นยำของความจำของคุณ ค่อยๆพิสูจน์ไปพร้อมๆ กันนะครับ

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 5 : สมาธิกับเกียรตินิยม

             



                     บางครั้งเทคนิคต่างๆ ที่เราใช้จะไม่ได้ผลเลยถ้าขาดสมาธิ ในสมัยพุทธกาลเคยมีเรื่องเช่นเดียวกันนี้ มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ จูฬปันถก พระพี่ชายชื่อ มหาปันถก ท่านจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เลยมาชวนน้องชายไปบวช ตั้งใจจะสอนน้องชายให้เป็นพระอรหันต์ตามไปด้วย ปรากฏว่าแค่สอนคาถาให้คาคาเดียวมีอยู่ 4 บท บาทหนึ่งก็ประมาณครึ่งบรรทัด พระน้องชายเรียนอยู่ 4 เดือน แม้แต่บาทเดียวคือครึ่งบรรทัดยังท่องไม่ได้เลย จนพระพี่ชายบอกว่าไม่ไหวคงไม่มีวาสนาในการบวช
                    บอกน้องว่า "สึกเถอะ เธอไปไม่รอดแล้ว"
                    พระจูฬปันถกเสียใจมาก ไม่รูจะทำอย่างไร ก็เลยคิดว่าจะสึก ระหว่างที่กำลังน้อยอกน้อยใจในโชควาสนาของตัวเอง ขณะที่จะเดินไปสึกนั่นเอง
                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็น เลยถามว่า "จูฬปันถก เธอจะไปไหน"
                    พระจูฬปันถกกราบทูลว่า "จะมาลาสิกขา พระเจ้าข้า"
                    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่าไม่ต้องสึก แล้วก็ประทานผ้าขาวให้ผืนหนึ่งให้ถือไว้และให้ลูบไป พร้อมทั้งให้บริกรรมภาวนาไปด้วยว่า "ระโชหะระณัง ระโชหะระณัง" แปลว่า ผ้าเช็ดธุลี ผ้าเช็ดธุลี
                    พระจูฬปันถกดีใจ ก็เอาผ้าขาวมาลูบ แล้วก็ภาวนาไป ลูบไปๆ หลายชั่วโมงเข้า ลืมตาดู เอ๊ะ ผ้าขาวเริ่มเป็นสีมอๆ แล้ว ผ้าขาวเปื้อนเหงื่อไคล เป็นสีมอๆ เลยได้คิดว่าผ้าขาวที่ขาวบริสุทธิ์ พอถูกต้องมือเรานานๆ เข้ายังเป็นสีมอๆ ได้เลย ตัวเรานี่ช่างไม่สะอาดจริงๆ เลย เป็นสิ่งที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
                    พอใจเริ่มคลายความยึดมั่นถือมั่นตรงนี้ไปได้ ใจก็เริ่มเป็นสมาธิตั้งมั่นมากขึ้นๆ ดิ่งลงไป เจริญวิปัสสนากรรมฐานจนสุดท้ายหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ตรงนั้นเอง บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ 4 คือ แตกฉานในอรรถ ในธรรม ในนิรุตติ ในปฏิญาณ การแสดงธรรมทุกเรื่องพรั่งพร้อมทุกอย่าง สุดท้าย ได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เป็นผู้ที่เลิศ เป็นอัจฉริยะทางด้านมโนยิทธิ คือ มีฤิทธิ์ทางใจ
 มาก
                   เห็นไหมครับ แม้แต่พระซึ่งมิสามารถท่องบทสวดมนต์เพียง 4 บาท ได้ แต่หากมีสมาธิแล้ว ไซร้ก็สามารถกลายเป็นอัจฉริยะ และเชี่ยวชาญด้านในด้านหนึ่งได้เช่นกัน

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 4 : ทดสอบความจำก่อนใช้จริง

                ตอนที่แล้วเราได้พูดถึงเรื่องราวของการผูกประสานเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำ ซึ่งถ้าผู้อ่านทุกท่านได้ฝึกใช้วิธีเหล่านี้เป็นประจำ มันจะทำให้ท่านผู้อ่านสามารถจำตัวเลขได้กว่าสิบหลักในการมองครั้งเดียว (เฮ้ย จริง ดิ!!!) จริงครับผมยืนยันกับตัวเอง และผมก็ได้ใช้เทคนิคนี้ในการจำโพยข้อสอบ(เฮ้ย!!! ไม่ใช่) จำเนื้อหาการสอบ แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นะครับ ถ้าเราจำเนื้อหาการสอบได้หมด มันจะเหมือนกับท่านผู้อ่านพกโพยเข้าห้องสอบเลยทีเดียว ยังไม่ต้องเชื่อผมก็ได้นะครับ ลองศึกษาตามที่ผมเขียน และทำตามไป ท่านจะทราบได้ด้วยตนเอง
               ก่อนที่เราจะพัฒนาความทรงจำเพื่อก้าวไปสู่หนทางแห่งเกียรตินิยม ผมต้องทำให้ท่านรู้ว่า ความจำของท่านนั้นอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปได้ ผมขอเวลาไม่นานนักในการทำแบบทดสอบ 3 ชุดนี้

แบบทดสอบที่ 1 : ่อ่านคำต่อไปนี้โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที แล้วเขียนเรียงลำดับ โดยไม่กลับไปมองอีก ให้คำละ 1 คะแนน ต้องเขียนถูกต้องทั้งคำและลำดับเท่านั้นจึงจะได้คะแนน

เต่า กระต่าย วัว ผีเสื้อ ขวด แก้วน้ำ ผับ ห้องน้ำ มุ้งลวด กางเกง เสื้อผ้า สายไฟ มีดพับ ยีนส์ หนังสือ


แบบทดสอบที่ 2 : ใช้เวลา 3 นาที จำคำทั้ง 20 คำตามหมายเลข ให้คำละ 1 คะแนน ต้องถูกต้องทั้งหมายเลขและคำ

1. มือถือ  2. เครื่องคิดเลข  3. แฟน  4.ผู้ชาย  5.หนู  6.ไก่  7. พาย  8.พิซซา  9.ขนมปัง  10.น้ำยาล้างห้องน้ำ  11.ถุงมือ  12.ฝ้าย  13.ดัมเบล  14.เทียนไข  15.พาน  16.กระถาง  17.ละคร  18.ดารา  19.เงิน  20.รวย

แบบทดสอบที่ 3: จำตัวเลขทั้ง 20 ตัว ตามลำดับ โดยใช้เวลา 2 นาที ต้องเขียนถูกทั้งตัวเลขและลำดับ ตัวละ 1 คะแนน

                                                   12456378859067543853

หลังจากที่ทำแบบทดสอบทั้ง 3 ชุดนี้จนเสร็จแล้ว ถ้าทำแบบทดสอบทั้งหมดนี้ออกมาได้ไม่ดีนักก็ไม่เป็นไร มันเป็นเพียงแค่แบบทดสอบเพื่อดูว่าพื้นฐานของเรามีมากขนาดไหน ซึ่งหลังจากนี้ขอให้ผู้อ่านทุกท่านตั้งใจฝึกตามเคล็ดลับต่างๆ ที่ผมให้มาอย่างเคร่งครัด เพราะหากท่านไม่ตั้งใจฝึก ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ท่านกำลังบอกเป็นตัวเองนัยๆว่า
                                  " ฉันไม่อยากได้เกียรตินิยม เพราะฉันไม่ทำเอง"


เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 3 : การผูกประสานความจำ

                      การผูกประสานเป็นเรื่องของความทรงจำความหมายอย่างง่าย คือ ความสัมพันธ์ หรือการผูกสัมพันธ์ของสองสิ่ง หรือมากกว่านั้นเข้าด้วยกัน การที่เราจะจดจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานๆ นั้นต้องผูกประสานเรื่องราวที่เราต้องการจำไปกับจิตใต้สำนึก เช่น การจำอักษรกลางในภาษาไทย ทุกๆคนถูกสอนให้ท่องประโยคที่ว่า "ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง" ตัวอักษร ก จ ด ต ฏ ฎ บ ป อ มันไม่ได้มีความหมายอะไรในตัวมันเอง มันเป็นเพียงตัวอักษร และมันยากที่จะจำ การที่เราใช้ประโยค "ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง" จึงเป็นเครื่องมือช่วยจำชิ้นเยี่ยมที่จะนำมันสู่สมอง และบันทึกลงจิตใต้สำนึกในที่สุด

                       การใช้สระ "ใ" ในภาษาไทยเป็นปัญหากับหลายคน อีกหนึ่งบทอาขยานที่เราท่องจำกันตั้งแต่เด็กเพื่อจำคำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง
                       "ผู้ใหญ่ขายผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใส่ใจเอาใส่หอ มิหลงใหล ใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง บ้าใบ้ถือใยบัวหูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยงยี่สิบม้วนจำจงดี"
                      บางครั้งเราหลายคนอาจเคยพบกับเหตุการณ์ ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะท่องจำมันเลย อย่างไรก็ตาม จิตใจของเราได้ผูกประสานมันโดยอัตโนมัติ ทำให้เราต้องร้อง "อ๋อ... จำได้แล้ว ..." ผู้อ่านบางท่านอาจถูกทำให้จดจำด้วยสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยิน ตอนนี้ผมจะสมมุติขั้นตอนการทำให้วิธีการนี้เกิดได้ด้วยความตั้งใจ เช่น การจำคำว่า เบญจเพส เรามักจะสบสนระหว่างการเขียน เบญจเพศ และเบญจเพส แต่ถ้าเราจำว่า คนอายุ 25 ไม่ได้มีห้าเพศ เราจะสามารถเขียนคำนี้ได้อย่างถูกต้องทันที
                    อีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำเขียนผิดยอดนิยมคือ คำว่า "ญาติ" ให้เราจำว่า หากอนุญาติ แล้วจะ ติกันไม่ได้ ส่วน ญาติพี่น้องนั้น สามารถ ติ กันได้ ซึ่งวลีนี้จะทำให้ผู้อ่านสามารถจำวิธีการเขียนคำว่า ญาติ ได้อย่างไม่มีวันลืม
                   หากผมให้ท่านผู้อ่าน วาดแผนที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะนี้ ผมเชื่อแน่ว่าผู้อ่านส่วนใหญ่อาจจะวาดไม่ได้ แต่ถ้าลองวาดแผนที่ประเทศไทยล่ะ ผู้อ่านทุกท่านคงจะนึกถึง ขวานทองทันที แน่นอน ขวานทองเป็นสิ่งที่เราจำได้อยู่แล้ว แต่แผนที่ประเทศไทยเป็นสิ่งที่ใหม่ต่อการจดจำ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 2 : เกียรตินิยมกับความจำ

               

                ปัจจุบันการศึกษาบ้านเราเน้นไปที่การใช้ความคิดสร้างสรรค์โดยให้ลด ละ เลิก ระบบการท่องแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ในความเป็นจริงนั้น "ผิด" อย่างมหันต์เลยนะครับ เพราะในความเป็นจริงแล้วการที่สมองของเราจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น สมองของเราจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลอยู่ก่อน เพื่อที่จะนำฐานข้อมูลนั้นไปประมวลผล และสร้างเป็นความคิดต่างๆ ออกมา แต่สิ่งที่เคล็ดลับเกียรตินิยมกำลังจะบอกท่านผู้อ่านคือ การจำอย่างไรให้เหมาะสมกับสมองและไม่เครียด
              " จำแล้ว ไม่เครียด " ใช่ครับฟังไม่ผิด สิ่งที่ผมกำลังจะบอกกล่าวนี้ อาจจะตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป สักหน่อย แต่ผมรับประกันครับว่ามันใช้ได้จริง เพราะผมได้ศึกษาและปฏิบัติมาแล้วในมหาวิทยาลัย ลองนึกถึง บรรยากาศก่อนสอบที่เพื่อนๆ รอบๆ ตัวเราล้วนมีความเครียดเพราะต้องท่องจำตำราเป็นปึกๆ หรือเอกสารการเรียนหนาเตอะที่เหมาะจะนำไปหนุนหัวมากกว่า แต่เรากลับยิ้มและนั่งทานข้าว ออกกำลังกาย พูดคุยกับเพื่อนๆ อย่างสบายใจ
              ซึ่งเคล็ดลับที่ผมกำลังจะเขียนในตอนที่ 3 ก็คือ เคล็ดลับ "การผูกประสาน" ซึ่งเทคนิคนี้ก็จะเชื่อมโยงไปกับเคล็ดลับตอนที่ 1 ในเรื่อง การสังเกต เนื่องจากเราจะไม่สามารถจดจำในสิ่งที่เราไม่ได้สังเกตไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าความจำคุณดีขึ้น ความช่างสังเกตคุณก็จะดีขึ้น และผลการเรียนของคุณก็จะดีขึ้นโดยปริยาย ครับ
    

เคล็ดลับเกียรตินิยมตอนที่ 1 : การสังเกตอย่างชาญฉลาด

                   ความช่างสังเกตเป็นทักษะที่สำคัญกับการเรียนหนังสือเก่งมาก นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกมากมายล้วนมีคุณสมบัตินั้น เช่น เซอร์ไอแซค นิวตัน ที่สังเกตการตกของแอปเปิลและเกิดความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วง จนทำให้เราต้องปวดหัวมาจนถึงทุกวันนี้ ,จอห์น แนช นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง เจ้าของทฤษฏีเกม ก็สร้างทฤษฏีนี้ขึ้นจากการสังเกตการจีบกันของชายหนุ่ม หญิงสาว หลายคู่ นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยทีจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการช่างสังเกตที่แยกไม่ออกจากการเรียนเก่งเลย คราวนี้ผมจะมาทดสอบผู้ที่กำลังจะกลายเป็นบัณฑิตเกียรตินิยมกันหน่อยดีกว่าครับ
             
                 ทุกๆคน คงจะรู้จักไฟจราจร สีอะไรอยู่ด้านบนสุด  สีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว ในตอนแรกผู้อ่านทุกท่าน อาจคิดว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก แต่ขอให้คิดดีๆ ว่าสีอะไรอยู่ข้างบนกันแน่ หากใครที่มั่นใจและตอบได้ทันทีเลยล่ะก็แสดงว่าผู้อ่านท่านนั้นเป็นผู้ที่มีความสังเกตมากกว่าคนทั่วไป เพราะคำถามนี้มีผู้ที่ไม่แน่ใจอยู่มากมายแม้เราจะเห็นไฟจราจรอยู่ทุกวันก็ตาม

                คำถามถัดมานะครับ อย่าพึ่งเหลือบไปมองนาฬิกาข้อมือเด็ดขาด ลองตอบคำถามนี้ด้วยตนเองดูนะครับ เลขหกบนหน้าปัดนาฬิกาข้อมือของคุณเป็นเลขอารบิก (6) หรืออักษรโรมัน (VI) ลองนึกทบทวนคำตอบเองสัก 5 นาทีแล้วค่อยหันลงไปดูนะครับ หากท่านตอบถูกก็แสดงว่าผู้อ่านท่านนั้นเป็นคนช่างสังเกตมาก แต่ถ้าตอบผิดนั่นแสดงว่าท่านได้แต่ "มอง" นาฬิกา แต่ไม่เคย "สังเกต" เลย

                 และหลังจากตอนที่ 1 นี้เป็นต้นไป สิ่งที่ผมกำลังจะถ่ายทอดจะทำให้ผู้อ่านทุกท่าน กลายเป็นคนช่างสังเกตไปโดยอัตโนมัติ และจะพบกับแบบฝึกหัดเกี่ยวกับการช่างสังเกตที่น่าสนใจมากมาย ระบบเหล่านี้จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านปลดปล่อยจิตนาการและความรู้ได้มากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน