การผูกประสานเป็นเรื่องของความทรงจำความหมายอย่างง่าย คือ ความสัมพันธ์ หรือการผูกสัมพันธ์ของสองสิ่ง หรือมากกว่านั้นเข้าด้วยกัน การที่เราจะจดจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานานๆ นั้นต้องผูกประสานเรื่องราวที่เราต้องการจำไปกับจิตใต้สำนึก เช่น การจำอักษรกลางในภาษาไทย ทุกๆคนถูกสอนให้ท่องประโยคที่ว่า "ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง" ตัวอักษร ก จ ด ต ฏ ฎ บ ป อ มันไม่ได้มีความหมายอะไรในตัวมันเอง มันเป็นเพียงตัวอักษร และมันยากที่จะจำ การที่เราใช้ประโยค "ไก่จิกเด็กตาย เด็กตายบนปากโอ่ง" จึงเป็นเครื่องมือช่วยจำชิ้นเยี่ยมที่จะนำมันสู่สมอง และบันทึกลงจิตใต้สำนึกในที่สุด
การใช้สระ "ใ" ในภาษาไทยเป็นปัญหากับหลายคน อีกหนึ่งบทอาขยานที่เราท่องจำกันตั้งแต่เด็กเพื่อจำคำที่ไม่มีความหมายในตัวเอง
"ผู้ใหญ่ขายผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ ใส่ใจเอาใส่หอ มิหลงใหล ใครขอดู จะใคร่ลงเรือใบดูน้ำใสและปลาปู สิ่งใดอยู่ในตู้มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง บ้าใบ้ถือใยบัวหูตามัวมาใกล้เคียง เล่าท่องอย่าละเลี่ยงยี่สิบม้วนจำจงดี"
บางครั้งเราหลายคนอาจเคยพบกับเหตุการณ์ ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะท่องจำมันเลย อย่างไรก็ตาม จิตใจของเราได้ผูกประสานมันโดยอัตโนมัติ ทำให้เราต้องร้อง "อ๋อ... จำได้แล้ว ..." ผู้อ่านบางท่านอาจถูกทำให้จดจำด้วยสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยิน ตอนนี้ผมจะสมมุติขั้นตอนการทำให้วิธีการนี้เกิดได้ด้วยความตั้งใจ เช่น การจำคำว่า เบญจเพส เรามักจะสบสนระหว่างการเขียน เบญจเพศ และเบญจเพส แต่ถ้าเราจำว่า คนอายุ 25 ไม่ได้มีห้าเพศ เราจะสามารถเขียนคำนี้ได้อย่างถูกต้องทันที
อีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำเขียนผิดยอดนิยมคือ คำว่า "ญาติ" ให้เราจำว่า หากอนุญาติ แล้วจะ ติกันไม่ได้ ส่วน ญาติพี่น้องนั้น สามารถ ติ กันได้ ซึ่งวลีนี้จะทำให้ผู้อ่านสามารถจำวิธีการเขียนคำว่า ญาติ ได้อย่างไม่มีวันลืม
หากผมให้ท่านผู้อ่าน วาดแผนที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในขณะนี้ ผมเชื่อแน่ว่าผู้อ่านส่วนใหญ่อาจจะวาดไม่ได้ แต่ถ้าลองวาดแผนที่ประเทศไทยล่ะ ผู้อ่านทุกท่านคงจะนึกถึง ขวานทองทันที แน่นอน ขวานทองเป็นสิ่งที่เราจำได้อยู่แล้ว แต่แผนที่ประเทศไทยเป็นสิ่งที่ใหม่ต่อการจดจำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น